วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ ตัวอย่างเรียงความภาษาไทย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เรียงความภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2558 มาเขียนเรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติกันเถอะ วันนี้เรามีตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยมาฝาก

          วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ การที่กำหนดให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้น ก็เพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์อยู่ คู่ชาติไทย ซึ่งในวันสำคัญนี้คุณครูหลาย ๆ ท่านจะต้องมอบหมายการบ้านให้เด็ก ๆ เขียนเรียงความกันแน่ ๆ เลย แต่เด็ก ๆ ชักเริ่มคิดไม่ตกกันแล้วสิว่าจะเริ่มเขียนอย่างไรดีน้า...

          วันนี้ทางกระปุกดอทคอมจึงนำตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยของเพื่อน ๆ มาฝากกันค่ะ เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน ไม่แน่ผลงานของหลาย ๆ คนอาจได้รับรางวัลก็เป็นได้นะจ้ะ 

ตัวอย่างเรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ
เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 1

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย พีระพิชญ์ ไพโรจน์ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ สพม. เขต 13

          ความเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา       อักษราล้วนหลากมากความหมาย
          เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำคมคาย             ร่วมสืบสายสานคุณค่าภาษาไทย

          ในโลกนี้จะมีสักกี่ชาติกี่ประเทศ ที่มีภาษาเป็นของตนเอง และจะมีประเทศใดเล่าที่จะมีความงามทางภาษาอันเป็นวิจิตรเอกลักษณ์ดั่งเช่น ประเทศไทยหากจะกล่าวว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความงาม และไพเราะที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก จากเหตุผลที่ว่าการที่ภาษาไทยมีเสียงสระ และเสียงพยัญชนะที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว น่าทึ่ง แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้ง การเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ คำพ้อง หรือคำผวน คำผัน การใช้โวหารต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

          ภาษาไทยถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งและเป็น เครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ผู้ที่สามารถใช้ภาษาได้ดีจึงสามารถประสบความสำเร็จในการสื่อสารในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และในทางกลับกัน หากมีการนำภาษาไปใช้ไม่เหมาะสม ความผิดเพี้ยนแห่งภาษาย่อมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายประการอย่างแน่นอน ทั้งความเสียหายโดยตรงคือการใช้สื่อสารอาจไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังมีความเสียหายของภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราต่างภาคภูมิใจกันมา ช้านาน

          จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า "ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่งเช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น  ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน" ซึ่งพระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมทาง วิชาการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕  จนเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมถึงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงแสดงความห่วงใยและ พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แนวคิดสำคัญ ๆ เหล่านี้นั้นบ่งชี้ชัด และปลุกทุกคนให้ตระหนักถึงความภาคภูมิใจที่คนไทยมีภาษาประจำชาติ ทั้งทรงฝากข้อคิดถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งสมบัติล้ำค่าของชาติไว้ว่า

           "เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออก เสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการใช้"

          สิ่งที่พสกนิกรประจักษ์ ในการเป็น "ในหลวงนักปราชญ์ภาษาไทย" คือ การที่ทรงมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย ทั้งภาษาบาลี และสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปล เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ รวมถึงพระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท รวมทั้งพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก และหากกล่าวถึงบทเพลงที่มีความไพเราะทั้งด้านลีลาภาษาและความหมายอันลึกซึ้ง กินใจ คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นมีความไพเราะน่าฟังยิ่งนัก นั่นแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพแห่งการใช้ภาษาไทยอย่างแท้จริง

          พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯที่มีต่อวงการภาษาไทย  เท่ากับเป็นการจุดประกายในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้เกิดความหวงแหนในภาษาประจำชาติ

          ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เทคนิคใหม่ ๆในการติดต่อสื่อสารผุดขึ้นมากมาย และเน้นความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อสื่อสารและผูกพันต่อการดำรงชีวิต ประจำวันของคนไทย จึงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้นอย่างยากที่จะหลีก เลี่ยงได้ ภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจึงเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างน่าวิตก และหากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

          ภาษาไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึง ความเป็นคนไทยอันน่าภาคภูมิใจยิ่งนัก จะมีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเกราะป้องกันภาษาประจำชาติจากการถูกคุกคาม นอกเสียจากว่าคนไทยจะมีจิตสำนึก  ตระหนักถึงคุณค่าของการมีภาษาประจำชาติ และสนองตอบต่อพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในด้านการใช้ภาษาไทยและดำรงรักษาภาษาไทยไว้คู่กับเอกราชของชาติไทยตลอดไป

                      คือแก่นแท้แลหัวใจไทยทั้งชาติ        คือศิลป์ศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีที่สืบสาน

                      คือลีลาลำนำคือคำกานท์                 ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย

                      วัฒนธรรมล้ำค่าศรัทธามั่น               ร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมทุกสมัย

                      เอกลักษณ์แห่งชาติประกาศไกร       เกิดเป็นไทยให้รู้ค่าภาษาตน

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 2

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย นายทศพรรษ พชร


          " ... เรามีโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ ... "

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการชุมนุมภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการ ของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาษาที่มีความไพเราะภาษาหนึ่งใน โลก เป็นภาษาที่เกิดจากอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดมาเป็น เวลาหลายร้อยปีนับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นจวบจบ ปัจจุบัน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทย จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ "วันภาษาไทยแห่งชาติ"


          เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้คนไทยภูมิใจในเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็น ชาติไทย แสดงถึงความเป็นชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในขณะที่หลายประเทศในโลกนั้นไม่มีภาษาซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

          ภาษาไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เป็นภาษาดนตรี เนื่องจากเป็นภาษาที่มีครบทั้งเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เป็นภาษาที่สามารถใช้บันทึกเสียงที่เปล่งออกมาได้เกือบจะครบถ้วน เช่น ภาษาจีนจะไม่สามารถบันทึกเสียง "ด" ได้

          นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นภาษาที่มีจังหวะจะโคน มีสัมผัสคล้องจองที่ไพเราะเสนาะหูเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาอื่น สะท้อนถึงอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเรียบง่ายแต่งดงาม อยู่กับธรรมชาติและเสพสุนทรียะจากสิ่งรอบตัวได้ จะมีรูปแบบฉันทลักษณ์ที่เป็นแบบแผน มีการใช้กลบท เล่นเสียง เล่นคำ และรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่กลั่นกรองมากจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลบทบัวบานขยายกลีบ กลบทงูกินหาง กลบทสะบัดสะบิ้ง ซึ่งหาภาษาอื่นใดในโลกที่จะทำได้เช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่แสดงถึงความมีสัมมาคารวะ เพราะว่ามีระดับของภาษา เช่น ภาษาทางการ ภาษากึ่งทางการ ภาษาปาก ซึ่งต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า กิน ของพระใช้ ฉัน ของคนธรรมดาใช้ รับประทาน ของพระมหากษัตริย์ใช้เสวย

          แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาษาไทยถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ เกิดการสร้างคำแบบใหม่ มีการตัดคำและไม่มีกาลเทศะในการใช้คำ แม้ว่าธรรมชาติของภาษาจะบอกว่า "ภาษาที่มีชีวิตนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง" แต่ทว่าหากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เกรงว่าเอกลักษณ์ของชาติคงจะเสียหายและสูญหายไปในที่สุด เพราะเหตุนี้เราจึงควรร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย เพราะ "เราโชคดีที่มีภาษาไทย" ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 3

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย นายมณฑล พรหมเผ่า

          หลายคนจะรู้ว่าวันภาษาไทยแห่งชาติคือวันที่ 29กรกฎาคมของทุกปีแต่บางคนจึงคิดว่ามันเป็นแค่วันที่จะได้เทิดทูนยกย่องภาษา ไทยเท่านั้นแต่มิอาจได้รู้ว่าวันภาษาไทยเกิดขึ้นเพราะอะไรมีความสัมพันธ์ อย่างไรทำไมวันภาษาไทยคือวันที่ 29 กรกฎาคม

          ภาษาไทยคือภาษาประจำชาติไทยที่กำเนิดมาตั้งแต่สุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนนี้ภาษาไทยคือภาษาที่คนไทยมักนำมาดัดแปลงเป็นภาษาที่ไม่ไพเราะเป็น ภาษาที่ไม่สำคัญ แม้จะมีวันภาษาไทยก็ตามคนไทยก็ถือว่าเป็นแค่ความรื่นเริงเท่านั้นและคนไทยก็ คิดว่าการพูดภาษาไทยผิดเป็นแค่เรื่องธรรมดาแต่มันคือการดูถูกชาติทำให้ ประเทศเสื่อมเสียส่วนวันภาษาไทยแห่งชาติถูกรับเลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เพราะวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชได้คำนึงถึงการใช้ภาษา ไทยที่ผิดจึงได้จัดตั้งเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติเพื่อให้ได้คำนึงถึงภาษาของ ชาติไทย

          วันภาษาไทยแห่งชาติได้ถูกจัดตั้งมาแต่ก็ยังมีคนใช้อย่างผิด ๆเราเป็นคนไทยต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องก่อนที่ภาษาประจำชาติไทยของเรา จะล่มสลายไปถ้าเราช่วยรักษาภาษาของเราไว้อย่างถูกต้องลูกหลานจะต้องไม่ได้มา ถามว่าภาษาไทยที่แท้จริงเป็นอย่างไร"

เรียงความวันภาษาไทย ตัวอย่างที่ 4

          เรียงความวันภาษาไทยแห่งชาติ โดย ครูลักษณา สังฆมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

                               เป็นคนไทยพูดภาษาไทยต้องให้ชัด
                               คุณสมบัติไทยแท้แน่นอนยิ่ง
                               ไม่พูดตัว  ร  เรือ เป็น ล  ลิง
                               น่าขันยิ่งฟังไม่เพราะเหมาะเหมือนใจ                                 
                               ออกเสียงผิดความหมายผิดย่อมแปรเปลี่ยน
                               เพราะพูดเรียนเป็นเลียนน่าสงสัย
                               เรียนหนังสือใช้  ร เรือ เสมอไป
                               ใช้ ล ลิง ไม่ได้ผิดทันที  ฯ
                               พูดชัดดีเป็นคนมีการศึกษา
                               พูดไม่ชัดนั้นน่าละอายยิ่ง
                               ควรฝึกฝนตั้งใจอย่างแท้จริง
                               คำควบกล้ำนั้นยิ่งต้องฝึกปรือ ฯ

8 ความคิดเห็น:

  1. คำตอบ
    1. เค้ายกตัวอย่างให้คนที่ต้องแต่งเรียงความค่ะ หนูคิดว่าเว็บนี้มีประโยชน์นะ

      ลบ
  2. เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลัง

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  4. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  5. มันก็มีประโยชน์นะ

    ตอบลบ