วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ภาษาไทย...แก่นแท้แห่งความเป็นไทย


วามเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา       อักษราล้วนหลากมากความหมาย
                       เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำคมคาย                ร่วมสืบสายสานคุณค่าภาษาไทย

            ในโลกนี้จะมีสักกี่ชาติกี่ประเทศ ที่มีภาษาเป็นของตนเอง และจะมีประเทศใดเล่าที่จะมีความงามทางภาษาอันเป็นวิจิตรเอกลักษณ์ ดั่งเช่น ประเทศไทย
           หากจะกล่าวว่า ภาษาไทย  เป็นภาษาที่มีความงาม และไพเราะที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก  จากเหตุผลที่ว่าการที่ภาษาไทยมีเสียงสระ และเสียงพยัญชนะ ที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว น่าทึ่ง  แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้ง การเล่นคำ การหลากคำ  การซ้ำคำ คำพ้อง     หรือคำผวน คำผัน การใช้โวหารต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง       
           ภาษาไทยถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งและเป็น เครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ผู้ที่สามารถใช้ภาษาได้ดีจึงสามารถประสบความสำเร็จในการสื่อสารในระดับต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และในทางกลับกัน หากมีการนำภาษาไปใช้ไม่เหมาะสม ความผิดเพี้ยนแห่งภาษาย่อมจะส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายประการอย่างแน่ นอน   ทั้งความเสียหายโดยตรงคือการใช้สื่อสารอาจไม่ประสบความสำเร็จแล้ว  ยังมีความเสียหายของภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราต่างภาคภูมิใจกันมา ช้านาน  
          จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ว่า  “ภาษาไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง  คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดความเห็นอย่างหนึ่ง  เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่งเช่นในทางวรรณคดี เป็นต้น  ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาให้ดี  ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน”     ซึ่งพระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมทาง วิชาการ  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  ๒๕๐๕    จนเป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมถึงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงแสดงความห่วงใยและ พระราชทานแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แนวคิดสำคัญ ๆ เหล่านี้นั้นบ่งชี้ชัด และปลุกทุกคนให้ตระหนักถึงความภาคภูมิใจที่คนไทยมีภาษาประจำชาติ  ทั้งทรงฝากข้อคิดถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งสมบัติล้ำค่าของชาติไว้ว่า
 “เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออก เสียง  คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการใช้”


          สิ่งที่พสกนิกรประจักษ์  ในการเป็น "ในหลวงนักปราชญ์ภาษาไทย"  คือ  การที่ทรงมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย  ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย  ทั้งภาษาบาลี  และสันสกฤต  ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์  มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม  และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย  ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปล  เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ รวมถึงพระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท  รวมทั้งพระราชนิพนธ์เรื่อง  พระมหาชนก  และหากกล่าวถึงบทเพลงที่มีความไพเราะทั้งด้านลีลาภาษาและความหมายอันลึกซึ้ง กินใจ  คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นมีความไพเราะน่าฟังยิ่งนัก นั่นแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพแห่งการใช้ภาษาไทยอย่างแท้จริง
         พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯที่มีต่อวงการภาษาไทย  เท่ากับเป็นการจุดประกายในหัวใจของคนไทยทั้งชาติ  ให้เกิดความหวงแหนในภาษาประจำชาติ      
          ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว  เทคนิคใหม่ ๆในการติดต่อสื่อสารผุดขึ้นมากมาย  และเน้นความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ  ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อสื่อสารและผูกพันต่อการดำรงชีวิต ประจำวันของคนไทย  จึงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้นอย่างยากที่จะหลีก เลี่ยงได้   ภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนจึงเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างน่าวิตก  และหากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ   นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง  เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย 
           ภาษาไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ  เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นคนไทยอันน่าภาคภูมิใจยิ่ง นัก      จะมีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเกราะป้องกันภาษาประจำชาติจากการถูกคุก คาม  นอกเสียจากว่าคนไทยจะมีจิตสำนึก  ตระหนักถึงคุณค่าของการมีภาษาประจำชาติ และสนองตอบต่อพระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในด้านการใช้ ภาษาไทยและดำรงรักษาภาษาไทยไว้คู่กับเอกราชของชาติไทยตลอดไป
                         คือแก่นแท้แลหัวใจไทยทั้งชาติ   คือศิลป์ศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีที่สืบสาน
                      คือลีลาลำนำคือคำกานท์               ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย
                     วัฒนธรรมล้ำค่าศรัทธามั่น               ร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมทุกสมัย
                      เอกลักษณ์แห่งชาติประกาศไกร      เกิดเป็นไทยให้รู้ค่าภาษาตน 
                                                                               ค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น