วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

เชิญชวนบุคลากรกองคลังรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เนื่องในวันภาษาไทย วันที่ 29 กรกฎาคม
กลุ่ม ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (2549). 29 ก.ค. นี้ ร่วมรำลึกปูมหลัง วันภาษาไทยแห่งชาติ. (ค้นเมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2549). จาก http://modernine.mcot.net/
การ ที่คนไทยเรา พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวัน จนเกิดความเคยชิน อาจจะทำให้หลายๆ คนไม่รู้สึกว่า “ภาษาไทย” มีความสำคัญแค่ไหน และมีคุณค่าเพียงไร หากจะเปรียบก็คงเหมือนกับ “อากาศ” ที่เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จนเราแทบไม่รู้ค่าว่า หากขาดอากาศเมื่อไร เราก็ตายเมื่อนั้น ถึงแม้ว่า “ภาษาไทย” จะไม่เหมือนอากาศที่ทำให้เราถึงกับตาย แต่ถ้าหากชาติไทยเราขาด “ภาษาไทย” เมื่อไร นั่นก็หมายความว่า “ความเป็นชาติ” ส่วนหนึ่งก็สูญสิ้นไปด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์ แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไร ที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันแน่นอน ยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน” คนไทยเราแม้จะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างท้องถิ่น หรือต่างศาสนา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต่างพูด “ภาษาไทย” ทุกคนย่อมรู้สึกได้ทันที ถึงความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นชาติเดียวกัน ดังนั้น “ภาษา” จึงเป็นสิ่งที่จะร้อยรัด และผูกพันคนในชาติ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งหากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่ไปเที่ยว ถ้าได้ยินใครก็ตามพูด “ภาษาไทย” ขึ้นมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ จะเกิดความรู้สึกยินดีว่า เจอพวกเดียวกันแล้ว เจอคนไทยด้วยกันแล้ว
การที่ “ภาษา” เป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่า ภาษาเป็นสื่อเสียง และสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดมาสู่ลูกหลาน เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชาตินั้นๆ ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้ และเป็นเหตุให้วัฒนธรรมในด้านอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย หากไม่มี “ภาษา” มนุษย์ก็คงไม่สามารถ สืบทอดวิชาการความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และไม่อาจพัฒนาหรือรักษา “ความเป็นชาติ” ของตนไว้ได้ “ภาษา” จึงเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ที่ทรงคุณค่ายิ่งของแต่ละชาติ
อาจารย์จำ นงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตยสถาน ได้เคยเขียนคำนำในหนังสือ “ภาษาของเรา” ตอนหนึ่งว่า “ในฐานะที่คนไทยเรา เป็นชาติที่มีวัฒนธรรมของตนเอง มานับเป็นเวลาพันๆ ปี เรามีภาษาพูด ภาษาเขียน และเลขของเราใช้โดยเฉพาะ ซึ่งแม้แต่ชาติที่เจริญ หรือเป็นมหาอำนาจอื่นๆ บางชาติก็หามีครบอย่างเรา ไม่บางชาติอาจจะมีแต่ภาษาพูด ขาดภาษาเขียน หรือบางชาติมีภาษาเขียน มีตัวหนังสือของตัวเอง แต่ขาดเลข ต้องขอยืมของชาติอื่นเขามาใช้ จึงนับว่า เป็นสิ่งที่เราน่าจะภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เราจึงควรที่จะช่วยกันรักษา และส่งเสริมวัฒนธรรมในด้านภาษาของเรา ให้ยืนยงต่อไปตลอดกาล ชาติที่เป็นมหาอำนาจทางอาวุธ แต่ขาดอำนาจในทางวัฒนธรรมนั้น แม้จะเป็นผู้พิชิตทางด้านการทหาร ก็จะถูกพิชิตทางด้านวัฒนธรรม อย่างพวกตาดมองโกล ที่พิชิตเมืองจีน แล้วตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นมาครองจีน ในที่สุดก็ถูกพวกจีน ที่มีวัฒนธรรมสูงกว่า กลืนชาติหมด.....วัฒนธรรมจึงนับว่าสำคัญยิ่ง ในอันที่จะพิชิตใจคน การพิชิตทางกายนั้น อาจกลับถูกพิชิตได้ง่าย แต่การพิชิตทางด้านวัฒนธรรมนั้น เป็นการพิชิตทางด้านจิตใจ จึงเป็นการพิชิตที่นุ่มนวล เป็นการพิชิตที่ผู้ถูกพิชิตยอมสมัครใจให้พิชิต วัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของไทย และเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ๆ ก็คือ ภาษา ซึ่งแม้ต่อมา จะมีภาษาอื่นมาปะปนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นภาษาที่ถูกเรากลืนให้เป็นไทยหมดแล้วทั้งนั้น จึงนับว่าเป็นภาษาไทยโดยแท้”
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วิถีชีวิต ของประชาชนคนไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว อิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ ที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ ยังมีส่วนทำให้ “ภาษาไทย” ที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยเอง ได้ละเลยต่อความสำคัญ ในการใช้ภาษาไทย และมีการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยน ในการสื่อสารมากขึ้นทุกที จนเป็นที่น่าวิตกว่า หากไม่รีบช่วยกันแก้ไข นานไปเอกลักษณ์ และคุณค่าของภาษาไทย อาจสูญหายไปจนหมดสิ้น
ด้วยเหตุ นี้ จึงได้มีการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “วันภาษาไทย” ขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ได้ตระหนัก และเห็นคุณค่าของภาษาไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสนองพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ท่านในด้านภาษาไทย รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่างทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และรักษาภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติไว้ให้งดงามยั่งยืนตลอดไป การที่กำหนดเป็นวันนี้ เนื่องจากตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงเสด็จฯ ไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 เกี่ยวกับปัญหาการใช้คำไทย ซึ่งได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ และความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจ ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว
พระราชดำรัสในครั้งนั้น ตอนหนึ่งความว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่ง ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็น ในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก...”นอกจากนี้ ยังมีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 ความว่า “ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะตัองรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ”
ใน หนังสือ “ภาษาไทยเรานี้มีทำนอง” ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวว่าชาติไทย เป็นชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองมาตั้งแต่อดีตกาล บ่งบอกถึงความมีเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ “ภาษาไทย” เป็นภาษาที่มีการจัดวางระเบียบแบบแผน ไว้อย่างประณีตบรรจง มีความอลังการแห่งศิลปะ ของการผสมผสานเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะ และเหมาะสมอย่างยิ่ง ดังนั้น ในโอกาส “วันภาษาไทย”ที่ 29 กรกฎาคมนี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้น้อมรำลึก และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาท ด้วยการช่วยกันธำรงรักษา “ภาษาไทย” ที่น่าภาคภูมิใจของเรา ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังอย่างถูกต้อง และงดงามตลอดไป
(ขอขอบคุณข้อมูลข่าว... อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม)
จาก บทความข้างต้น ขอเชิญชวนให้บุคลากรกองคลังทุกท่านในฐานะลูกพ่อขุนร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระ บิดาแห่งอักษรไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาวไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น